วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่

วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม
ตั้ง อยู่ที่ถนนสุเทพ ในเขตอำเภอเมือง พระเจ้ากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ลานนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย
วัดเชียงมั่น
อยู่ ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดภายในตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ ของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร
วัดพระสิงห์วรวิหาร
อยู่ ถนนสามล้าน อำเภอเมือง เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน แต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้เป็นตลาด เรียกชื่อว่า วัดลีเชียง (ลี หมายถึง ตลาด) จนถึงปี พ.ศ. 1888 พระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม พระอุโบสถ หอไตรที่มีปูนปั้นรูปเทวดาประดับ และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
วัดปราสาท
ตั้ง อยู่บนถนนอินทวโรรส อำเภอเมืองใกล้กับวัดพระสิงห์ วิหารภายในวัดมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม ที่หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจก และไม้แกะสลักรูปสิงห์ฝีมือประณีต ซุ้มปราสาทที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นศิลปะล้านนาโบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ประดิษฐาน เจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ต่อมาพระยาติโลกราชให้ช่างสร้างเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ สูงถึง 98 เมตร ฐานกว้างด้านละ 54 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภาครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลงเมื่อปี พ.ศ. 2088 วิหารด้านหน้าของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุด ของภาคเหนือ
วัดพันเตา
ตั้ง อยู่บนถนนพระปกเกล้า ติดกับวัดเจดีย์หลวง เดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้าของพระเจ้ามโหตรประเทศ ซุ้มประตูทำเป็นรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์
เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง
เป็น หลักเมืองเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ หลักอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมืองเป็นประจำ
วัดตำหนัก (วัดศิริมังคลาจารย์หรือวัดสวนขวัญ)
สร้าง ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2050 ในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พระเมืองแก้ว) กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย อาศรมแห่งนี้เป็นที่จำพรรษาของพระศิริมังคลาจารย์ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” ปัจจุบันนี้ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังลงแล้ว วัดนี้ตั้งอยู่เส้นทางหางดงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 ตรงข้ามสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่
วัดกู่เต้า
เดิม ชื่อ วัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกไปกว่าเจดีย์อื่นๆ ในเมืองไทย วัดนี้ไม่มีประวัติแจ้งไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าว่า เจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150 ลักษณะของเจดีย์องค์นี้คล้ายกับนำผลแตงโมมาวางซ้อนกันไว้หลายๆ ลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจดีย์กู่เต้า
วัดแสนฝาง
ตั้ง อยู่ที่ถนนท่าแพ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีศิลปกรรมพม่าผสมอยู่ โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี เป็นจุดที่น่าสนใจอีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421
วัดบุพพาราม
ตั้ง อยู่บนถนนท่าแพ อำเภอเมือง สิ่งที่น่าชมคือ เจดีย์ทรงพม่า วิหารหลังใหญ่ซึ่งหน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักแบบพม่า และวิหารหลังเล็กซึ่งเป็นทรงพื้นเมืองสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
เวียงกุมกาม
เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน ไขน้ำแม่ ปิงให้ขังไว้ในคูเวียง โบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ แต่ละแห่งอยู่กระจัดกระจายกัน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22 โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำ และซากเจดีย์ วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดกู่ขาว วัดอีก้าง วัดหัวหนอง และ วัดปู่ซ้ง ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยาม เจดีย์เหลี่ยม
วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ
สร้าง ขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนแล้ว ทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 5 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1820 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อย ปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น
วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามวิหาร
ตั้ง อยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร ป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ชำรุดทรุดโทรมมาก และเพิ่งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ ได้แก่ เจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ทรงปราสาท บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้สร้างวัดนี้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

ตั้ง อยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ใกล้ๆ กับวัดเจ็ดยอด จะเห็นตึกรูปทรงแบบล้านนาไทยประยุกต์ตั้งเด่นอยู่ริมถนน ภายในบริเวณกว้างขวางและร่มรื่น รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษามากมาย เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. (053) 221308
วัดอุโมงค์
ตั้ง อยู่ที่ถนนสุเทพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายเมื่อราวปี พ.ศ. 1839 และได้บูรณะเพิ่มเติมในสมัยพระเจ้ากือนา เป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นแนวยาวคล้ายกำแพง ภายในเป็นอุโมงค์ทางเดินหลายช่อง เดินทะลุกันได้ ด้านบนกำแพงมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ปัจจุบันปรับปรุงบริเวณเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์
ศูนย์ศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว
ตั้ง อยู่ในอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โรงละครกาดสวนแก้วเป็นโรงละครที่มีการออกแบบ และใช้อุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัย เปิดแสดงละครทั้งของไทยและต่างประเทศ สอบถามรายการการแสดงได้ที่ โทร. (053) 224333 ต่อ กาดศิลป์
สวนกล้วยไม้และฟาร์มผีเสื้อ
ตาม เส้นทางนี้มีอยู่หลายแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ที่แปลกและหาดูได้ยากไว้ด้วย อาทิ สายน้ำผึ้งพิพิธภัณฑ์กล้วยไม้ไทย ไปตามถนนสายแม่ริม-สะเมิง 2 กิโลเมตร และแยกซ้ายอีก 1 กิโลเมตร เป็นสวนกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ มีฟาร์มผีเสื้อ แมวไทย และสัตว์อื่นๆ ให้ชมด้วย โทร. (053) 297152, 298771-2 ตรงกันข้ามเป็น สวนกล้วยไม้เมาท์เท่น ออคิด โทร. (053) 297343 แม่แรมออร์คิด ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 5.5 มีการปลูกพันธุ์กล้วยไม้นานาชนิด สาธิตการปลูกกล้วยไม้ และจัดเป็นฟาร์มผีเสื้อด้วย จำหน่ายสินค้าที่ระลึกประเภทเครื่องประดับ เช่น เข็มกลัด ต่างหู สร้อย ซึ่งทำจากกล้วยไม้ ใบไม้ และแมลงต่างๆ โทร. (053)298801-2
ฟาร์มงูแม่สา
ตั้ง อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 3 เส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์งูที่มีในเมืองไทยและศึกษาด้านการขยายพันธุ์ มีการแสดงของงูและการรีดพิษงูให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน แบ่งเป็นรอบๆ แต่ละรอบใช้เวลาแสดงประมาณ 30 นาที ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (053) 860719
น้ำตกแม่สา
แยก เข้าทางซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 7 เข้าเขตวนอุทยาน น้ำตกแม่สาเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่ริม แบ่งเป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามเชิงเขาถึง 8 ชั้น ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณ ทำให้สภาพอากาศร่มรื่นเย็นสบายตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมมากทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ต่างถิ่น
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ตั้ง อยู่ในพื้นที่จำนวน 3,500 ไร่ บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ท้องที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม ทางเข้าอยู่ด้านซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 สายแม่ริม-สะเมิง สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบและที่สูงสลับกันเป็นชั้นๆ ในระดับ 300-970 เมตร จัดทำเป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลักษณะการจัดสวนของที่นี่จะแบ่งพันธุ์ไม้ตามวงศ์และความเหมาะสมของสภาพ พื้นที่ รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งในและต่างประเทศ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ สามารถขับรถเที่ยวชมรอบๆได้ จุดที่แวะชมได้ คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์เพาะกล้วยไม้ไทย อาคารพืชสมุนไพร พิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร ศูนย์วิจัย และอาคารเรือนกระจก และมีเส้นทางเดินเท้าที่จัดไว้ 3 เส้น คือ 1. Rock Garden - Thai Orchid Nursery (สวนหิน-ศูนย์อนุบาลกล้วยไม้ไทย) ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที 2. Arboreta (เส้นทางศึกษาพรรณไม้) รวบรวมพรรณไม้ไว้มากกว่า 10 วงศ์ เช่น กล้วย ปาล์ม ไซแคด เฟิร์น ขิง เป็นต้น ใช้เวลา 45-60 นาที 3. Climber Collection (เส้นทางขึ้นเขา) ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.30-16.00 น. ค่าธรรมเนียม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท รถรวมทั้งคนขับ 50 บาท
ต้อง การข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ที่ ตู้ ปณ. 7 อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ 50180 โทร. (053) 298171-5 ต่อ 4736, 4739 โทรสาร 299754 กรุงเทพฯ ติดต่อได้ที่ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 280-2907
บ้านม้ง (แม้ว) แม่สาใหม่
เลี้ยว ซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 12 เข้าไปอีก 7 กิโลเมตร แต่สภาพทางเป็นลูกรังและสูงชัน ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ชาวบ้านมีความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ตลอดจนงานศิลปหัตถกรรมของชาวเขา บนเส้นทางสายนี้ยังมีรีสอร์ท หลายแห่งที่ประดับด้วยดอกไม้และตกแต่งสวยงามพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้า ชมด้วย เช่น แม่สาวาเลย์ แม่สารีสอร์ท (มีสนามกอล์ฟ 9 หลุม) ไร่กังสดาล เป็นต้น (ดูรายละเอียดในสถานที่พัก)
โป่งเดือดป่าแป๋
อยู่ ในท้องที่อำเภอแม่แตง ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นน้ำร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากพื้นดินสูงเกือบ 4 เมตร นับว่าเป็นน้ำพุร้อนที่ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศ รอบๆ บริเวณซึ่งเป็นป่าทึบจะอบอวลไปด้วยกลิ่นกำมะถัน การเดินทาง ใช้ถนนสายแม่มาลัย-ปาย ไปประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง สภาพยังไม่ดีนัก
น้ำตกหมอกฟ้า
ตั้ง อยู่บนถนนสายแม่มาลัย-ปาย กิโลเมตรที่ 20 แยกซ้ายยเข้าไปเป็นทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตรจึงจะถึงน้ำตก เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีและมีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
ห้วยน้ำรูหรือดอยสามหมื่น
ตั้ง อยู่ในเขตท้องที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น หมูบ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพที่สวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว มีที่พักและอาหารไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นบ้านพักรวม 4 หลัง แต่ละหลังมีเครื่องทำน้ำอุ่นไว้บริการ การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 21 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7587
ป่าสนบ้านวัดจันทร์
ผืน ดินแห่งนี้ชาวกะเหรี่ยง มูเส่คี (หมายถึง ต้นน้ำแม่แจ่ม) ได้พึ่งพาอาศัยดำรงชีวิตมานับร้อยปี พวกเขาช่วยกันดูแลรักษาผืนดินผืนป่าแห่งนี้อย่างดี เหมือนเป็นสามชิกครอบครัวเลยก็ว่าได้ ตามธรรมเนียมกะเหรี่ยง เมื่อมีเด็กเกิดใหม่จะนำสายสะดือของเด็กไปผูกไว้กับต้นไม้ กำหนดว่าเป็นต้นไม้ของครอบครัวใครจะมาตัดไม่ได้ สนที่ขึ้นที่นี่เป็นสนเขาทั้ง สนสองใบและสามใบที่จะขึ้นเฉพาะในที่สูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ยางสนนำไปใช้ประโยช์ได้หลายอย่าง เช่น เป็นตัวช่วยให้ฝืดโดยนำไปใช้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายได้ หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันสนที่ใช้ผสมกับสีน้ำมันช่วยให้สีแห้งเร็ว แต่เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของป่าที่นี่จึงไม่มีการทำยางสน ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงให้เลี้ยงไก่เบสซึ่งเป็นไก่เนื้อ พันธุ์ดีกิโลกรัมละหลายร้อยบาท ผู้สนใจมาหาประสบการณ์ชีวิตจาก ที่นี่นำจักรยานมาปั่นได้จะดีมากเพราะอากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี ทิวทัศน์เป็นป่าสนสวยงาม หรือจะนำเรือยางมาพายในทะเลสาบที่นี่ก็ได้ กิจกรรมแบบนี้นอกจากไม่ก่อมลพิษแล้วเรายังได้อยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ด้วย บ้านพักติดต่อที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) บ้านวัดจันทร์ โทร.(053) 249349 การเดินทาง มีหลายเส้นทางให้เลือกแต่ไม่ว่าจะเลือใช้ทางใดก็ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เท่านั้น เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือ สายแม่มาลัย-ปาย ประมาณ 80 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 40 กิโลเมตร สายสะเมิง-วัดจันทร์ เป็นทางลูกรังเช่นกันระยะทาง 80 กิโลเมตร อีกสองเส้นทางที่ลำบากกว่าสองทางแรกคือ อำเภอแม่แจ่ม-บ้านวัดจันทร์ และ อำเถเมืองแม่ฮ่องสอน-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางหลังจะมีความงามมาก
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์
อยู่ ที่บ้านเมืองงาย ประชาชนได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า พระองค์เคยเสด็จมาประทับแแรมที่เมืองงายแห่งนี้ ก่อนที่จะกรีฑาทัพต่อไปยังเมืองอังวะของพม่า เป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม ที่ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ละด้านของฐานเป็นแผ่นศิลาสลัก เรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติ ประวัติการสร้างพระสถูป ด้านหลังเป็นค่ายหลวงจำลอง ที่ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
อำเภอเวียงแหง
เป็น เมืองที่อยู่ติดชายแดนไทยพม่า มีคนหลายเชื้อชาติอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทั้งชาวเขา ไทยใหญ่ จีนฮ่อ แต่ละกลุ่มต่างก็ยังดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียมเดิมของตนเอง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว เพราะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้างใหญ่ใจกลางหุบเขา ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เพราะความเจริญยังแพร่มาไม่มากนัก เนื่องจากการสัญจรไปมา ต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยวสูงชัน เลาะขุนเขาหลายลูกกว่าจะเข้าถึงได้ ปัจจุบันพึ่งมีถนนลาดยางตัดเข้าถึง จึงเหมือนเป็นการเปิดอำเภอนี้ สู่โลกภายนอกอย่างแท้จริง แต่ในขณะเดียวกันทางอำเภอ มีนโยบายที่จะแบ่งเขตการพัฒนา โดยตำบลเมืองแห่งเป็นที่อยู่อาศัย และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี โบราณสถาน ตำบลแสนไหเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตร ตำบลเปียงหลวงเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้าขายชายแดน อำเภอนี้มีสิ่งที่น่าชมหลายอย่าง ได้แก่
พระบรมธาตุแสนไห
อยู่ ที่ตำบลเมืองแหง จากบ้านเมืองายเข้ามา 55 กิโลเมตร เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่มาได้รับการบูรณะในพ.ศ. 2457 เป็นปฏิมากรรมผสมระหว่างพม่าและลานนาไทย ซึ่งการก่อสร้างทับพระธาตุเดิมที่มีขนาดเล็ก โดยของใหม่มีสันฐาน 8 เหลี่ยม สันนิษฐานว่า ที่นี่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยกทัพไปยังเมืองอังวะของพม่าเมือปี พ.ศ. 2147 หลังจากประชุมพลที่เมืองงาย จึงเสด็จไปทางเมืองห้างหลวง ซึ่งน่าจะเป็นเมืองแหงในปัจจุบันเพราะมีคูเมืองล้อมยาวกว่า 2 กิโลเมตร และเป็นเมืองเดียวที่อยู่ระหว่างเมืองงายกับเมืองอังวะของพม่า เชื่อว่าพระองค์น่าจะเสด็จมาพักทัพที่พระบรมธาตุแห่งนี้ และสร้างบ่อน้ำใช้ส่วนพระองค์และช้างศึก ตรงบริเวณด้านหน้าเนินเขาที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำช้าง ประเพณีที่สำคัญของวัดนี้ คือ งานสรงน้ำพระบรมธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
วัดฟ้าเวียงอินทร์
ลักษณะ สถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยใหญ่ อยู่ที่บ้านหลักแต่งตรงชายแดนไทย-พม่าพอดี สมัยก่อนบริเวณบ้านหลักแห่งนี้ ถือเป็นเขตอิทธิพลของขุนส่า อาณาเขตของวัดนี้ จึงนับเป็นดินแดนเดียวกัน แต่เมื่อขุนส่ามอบตัวแก่รัฐบาลทหารพม่า ดินแดนวัดถูกแยกเป็นสองส่วน มีเจดีย์สีเหลืองทองอร่ามอยู่ในแดนไทย และจะมองเห็นหลังคาโบสถ์สีแดงทรงไทยใหญ่อยู่ในฝั่งพม่า ด้านหลังเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชาวบ้านจะให้ความเคารพมาก และที่เชิงเขาด้านหลังเป็นสุสานนายพลโมเฮงอดีตผู้นำชาวไทยใหญ่ที่นี่
บ้านเปียงหลวง
อยู่ ติดชายแดนไทย-พม่า มีด่าน “ช่องหลักแต่ง” เป็นด่านชั่วคราว ที่เปิดการค้าขายชายแดนในระดับท้องถิ่น ในยามเหตุการณ์สงบ ด่านจะเปิดให้ชาวบ้านในละแวกข้ามมาค้าขายกันได้ ชาวบ้านในตำบลนี้เป็นจีนฮ่อและไทยใหญ่ โดยชาวจีนฮ่อนั้นอพยพเข้ามาในสมัยเจียงไคเช็คเป็นประธานประเทศ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิม ทุกคนจะเรียนภาษาจีนเพิ่มเติมตอนเย็นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน การเดินทาง หากจะเดินทางมาที่อำเภอนี้โดยรถยนตร์ส่วนตัวใช้ทางหลวง 107 และแยกซ้ายที่เมืองงายเข้าทางหลวง 1322 ระยะทาง 72 กิโลเมตร แต่หากมาโดยรถประจำทางขึ้นรถที่ท่ารถถนนช้างเผือก สายดาวทอง (เวียงแหง-เปียงหลวง) เป็นรถสองแถวสีขาว 6 ล้อ รถออก เวลา 8.00, 12.00 และ 15.00 น. จากเวียงแหงรถออกตรงหน้าตลาด เวลา 7.00, 8.00 และ 15.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ค่ารถ 70 บาท
โครงการหลวงห้วยผักไผ่ (สวนกุหลาบหลวง)
ตั้ง อยู่ที่บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง บนเส้นทางสายสะเมิง-หางดง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 17 แยกเข้าไปประมาณ 300 เมตร สามารถเดินทางจากเชียงใหม่ได้สองทาง คือ ตามทางสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง-หางดง ระยะทาง 32 กิโลเมตร และเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สะเมิง ระยะทาง 43 กิโลเมตร งานหลักของโครงการฯ คือ การรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กุหลาบชนิดต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ “สวนกุหลาบหลวง” ซึ่งเป็นแปลงกุหลาบในเนื้อที่12 ไร่ ปลูกไล่ไปตามไหล่เขา มองดูสวยงาม นับเป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์กุหลาบที่มากที่สุด ช่วงฤดูที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว คือ เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ตามเส้นทางสายนี้มีรีสอร์ท หลายแห่งที่มีการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หรือไปแค้มป์ปิ้งได้ เช่น กฤษดาดอย อุทยานล้านนา ดูรายละเอียดในข้อมูลที่พัก
พิพิธภัณฑ์ชาวเขา
ตั้ง อยู่ในบริเวณสวนล้านนา ร.9 ถนนโชตนา อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านชาติพันธุ์วิทยา จัดเก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐานวัฒนธรรมของชนเผ่าบนที่สูง หรือ “ชาวเขา” ประกอบด้วยกลุ่มชนจำนวน 9 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ลีซอ อีก้อ มูเซอ ลัวะ ถิ่น ขมุ และกลุ่มชนเล็กที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งคือ มลาบรี หรือผีตองเหลือง มีลักษณะวัฒนธรรมของตนเองที่แตกต่างกันไป พิพิธภัณฑ์ชาวเขาได้จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อและภูมิปัญญาชาวเขา ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงทางวัตถุศิลป์ จัดเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวเขาที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้น คว้าสำหรับผู้สนใจทั่วไป พิพิธภัณฑ์ชาวเขาแห่งนี้เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดทุกวัน เวลา 9.00-16.00 น. ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (053) 210872

โรงงานไทยศิลาดล
เป็น โรงงานผลิตเครื่องเคลือบดินเผาแบบโบราณ ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร โรงงานเปิดจันทร์-เสาร์ เวลา 8.00-17.00 โทร. (053) 213245, 213541
ป่าเกี๊ยะหรือแม่ตะมาน
(เกี๊ยะ เป็นคำเมืองแปลว่า ต้นสน) ตั้งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเชียงดาว ขึ้นอยู่กับส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากหน่วยงานมองเห็นยอดดอยเชียงดาวและทะเลหมอกยามเช้า มีแปลงดอกไม้ และแปลงทดลองปลูกกาแฟ การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ 67 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าหน่วยงานฯ อีกประมาณ 21 กิโลเมตรสภาพทางช่วงนี้ลำบากมากเป็นทางลูกรังและเป็นหลุมเป็นบ่อต้องใช้รถ ขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น


ถ้ำเชียงดาว
อยู่ ในเขตอำเภอเชียงดาว การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 72 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าไปจนถึงถ้ำอีก 5 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจนถึงบริเวณถ้ำ มีบริเวณจอดรถกว้างขวาง ทางเข้าถ้ำเป็นบันไดมีหลังคามุงสังกะสี หน้าถ้ำมีธารน้ำไหลผ่านเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด ด้านขวามือตรงกลางสระเป็นเรือสำเภาหิน เสียค่าเข้าชมคนละ 5 บาท หรือหากต้องการชมบริเวณถ้ำทั้งหมด ติดต่อคนนำทางได้บริเวณหน้าถ้ำโดยเสียค่าบริการพิเศษ
ดอยเชียงดาว
อยู่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง "เพียงดาว") มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบอากาศเย็น ลมแรง และสมบูรณ์ด้วยดอกไม้ป่าภูเขาที่หาชมได้ยากมากมายรวมทั้งนกและผีเสื้อด้วย (ไม่เหมาะที่จะขึ้นไปยืนบนยอดดอยทีละกลุ่มใหญ่ๆ เพราะจะไปเหยีบย่ำทำลายพรรณไม้บนนั้นได้ แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม) การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำ หนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง รายละเอียด โทร. 561-2947 การเดินทางสู่ยอดดอยเชียงดาว เริ่มที่ถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถไปส่งที่จุดเริ่มเดินได้ โดยค่าเช่ารถประมาณ 900 บาท ค่าจ้างลูกหาบประมาณวันละ 300 บาทต่อลูกหาบหนึ่งคน บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวไปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำส่วนเส้นทางลง นิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำเชียงดาว เพราะมีทางสูงชันสามารถลงได้รวดเร็วกว่า แต่ไม่เหมาะกับการขึ้น
โครงการหลวงห้วยลึก
ตั้ง อยู่ที่อำเภอเชียงดาวตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 95 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล ได้แก่ ผักจำพวกผักสลัด แคนตาลูป ฯลฯ ไม้ดอก เช่น เบญจมาศ พีค็อก ฯลฯ ไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่งคั้นน้ำ เป็นต้น ฤดูท่องเที่ยวของที่นี่จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากมีผลิตผลให้ชมและซื้อหาได้
วัดถ้ำตับเต่า
อยู่ ในเขตอำเภอไชยปราการ บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 120 และ 121 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดร่มรื่น มีหอพระไตรปิฎกสร้างอยู่กลางน้ำ สิ่งสำคัญในวัดคือถ้ำตับเต่า มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว แต่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ถ้ำตับเต่านี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำผาขาว และถ้ำปัญเจค บริเวณหน้าถ้ำมีกุฏิและศาลาสำหรับพักผ่อน
บ่อน้ำร้อนฝาง
ตั้ง อยู่ห่างจากอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร ในเขตตำบลบ้านปิน น้ำร้อนเกิดจากหินแกรนิตที่มีความร้อนเกือบเดือด หรือเดือดระหว่าง 90 - 100 องศาเซลเซียส มีมากกว่า 50 แห่ง บ่อใหญ่มีไอน้ำพุ่งขึ้นสูงส่งกลิ่นกำมะถันกระจายไปทั่ว
ดอยผ้าห่มปก
อยู่ ในเทือกแดนลาวที่ทอดตัวยาวมาตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศยูนนานลงมาแบ่งชาย แดนไทย-พม่าตั้งแต่เชียงรายจนถึงแม่ฮ่องสอนจึงไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย ดอยแห่งนี้มีความสูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ (2,297 เมตร) ดูจะสูงตระหง่านเสียดฟ้ามีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลาจึงมีผู้เปรียบเปรยว่า “ฟ้าห่มปก” การที่ขึ้นไปสัมผัสหมอกหนาวและไอเย็นที่นี่ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพภาพอันสวยงามแล้ว ยังจะได้พบนกนานาชนิดที่อาศัยที่นี่เป็นทั้งที่พักพิงชั่งคราวและประจำ มีชนเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วคือมูเซอ การจะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยผ้าห่มปกนั้นต้องเตรียมตัวอย่างดีเพราะต้อง เดินป่าปีนเขาอย่างสมบุกสมบัน และก่อนเดินทางติดต่อขออนุญาตจากส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ โทร. 561-4292 ต่อ 736 และที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆนักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเอง การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝางประมาณ 150 กิโลเมตร ฝาง-แม่อาย 9 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายที่ตลาดบ้านป่าซางอีก 14 กิโลเมตร ผ่านดอยปู่หมื่นไปจนถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง สภาพทางยังเป็นลูกรัง มีเส้นทางต่อไปหน่วยย่อยอีก 5 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปยอดดอย 8 กิโลเมตร
ท่าตอน-เชียงราย
ท่า ตอนเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอแม่อาย เป็นที่ซึ่งแม่น้ำกกไหลผ่านลงไปถึงตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แม่น้ำกกนี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญในการคมนาคมระหว่าง 2 จังหวัด ปกติแล้วจะมีเรือหางยาวบริการรับส่งผู้โดยสารจากท่าตอนล่องไปตามแม่น้ำกกจน ถึงเชียงราย จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำกก ซึ่งเรือดังกล่าวออกจากท่าตอนเวลา 12.30 น. ไปถึงเชียงรายประมาณ 16.00 น. (ค่าโดยสารเรือหางยาวคนละ 200 บาท เหมาลำละ1,600 บาท) สอบถามรายละเอียด โทร. (053) 459427 นอกจากนี้ยังมีทัวร์ล่องแพพา แวะเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอ นั่งช้างชมรอบหมู่บ้านและเดินป่าบริเวณใกล้เคียง ติดต่อที่ร้านจันทร์เกษม โทร. (053) 459313 คุณตาบทิพย์ วรรณรัตน์ โทร. (053) 459138 และท่าตอนทัวร์ โทร. (053) 373143
วัดท่าตอน
เป็น วัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาต่อเนื่องกันหลายลูก มีเนื่อที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดริมแม่น้ำกก เดิมเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานได้จากวัตถุโบราณที่ค้นพบในบริเวณนี้ วัดท่าตอนยังเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติด และสงเคราะห์ชาวเขา เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงาม และเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ทางวัดได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างเจดีย์แก้วเฉลิมพระเกียรติไว้บนยอดเขา ด้านบนมีจุดชมวิวซึ่งจะมองเห็นชุมชน ทุ่งนา และแม่น้ำกกไหลคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง

สวนรุกขชาติห้วยแก้ว
อยู่ ข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดไว้ศึกษา เป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนและยังมีสวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย
สวนสัตว์เชียงใหม่
อยู่ ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ได้รับการจัดสภาพอย่างดี บริเวณกว้างขวาง มีบรรยากาศร่มรื่น และมีสัตว์อยู่มากกว่า 2,000 ชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 5 บาท และยังมีร้านอาหาร สถานที่แค้มปิ้งพร้อมเต็นท์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อจองล่วงหน้าที่ โทร. (053) 221179, 222283

หมู่บ้านทำเครื่องเงิน
อยู่ บริเวณถนนวัวลาย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเครื่องเงิน เช่น หีบบุหรี่ ช้อนส้อม ถาดผลไม้ เชี่ยนหมาก ฯลฯ มีลวดลายประณีตบรรจง นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตเครื่องเงินอยู่บริเวณเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง และถนนช้างคลาน
ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
ตั้ง อยู่บนถนนสายเชียงใหม่-หางดง เป็นที่รวมศิลปะและวัฒนธรรมของล้านนา เป็นหมู่เรือนไทยไม้สัก ประตูหน้าต่างประดับด้วยไม้แกะสลักอย่างสวยงาม มีร้านขายของที่ระลึกอยู่หลายร้าน และมีหมู่บ้านชาวเขาให้เที่ยวชม ส่วนในตอนกลางคืนมีบริการอาหารเย็นแบบ“ขันโตก” ซึ่งประกอบด้วยอาหารเหนือ เช่น แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง แคบหมู เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวจะรับประทานอาหาร และชมการแสดงฟ้อนพื้นเมืองไปพร้อมๆ กัน เมื่อเสร็จสิ้นการแสดงฟ้อนรำ พื้นเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้ชมการแสดงของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) อีก้อ มูเซอ เย้า และลีซอ อีกทั้งแต่ละเผ่ามีการแสดงที่ไม่เหมือนกัน โดยแสดงทุกวันตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (053) 274540, 275097 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่ จัดกิจกรรมแบบนี้ เช่น คุ้มแก้วพาเลซ โทร. 214315 ขันโตกบ้านร้อยจันทร์ โรงแรมปางสวนแก้ว โทร. 224444 เป็นต้น
หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง
ผลิตภัณฑ์ มีหลายอย่างเช่น หม้อแกง หม้อน้ำ แจกัน โดยเฉพาะน้ำต้น (คนโทใส่น้ำที่ชาวเหนือนิยมวางไว้หน้าบ้านให้ผู้ผ่านไปมาได้ดื่มดับกระหาย) นั้นเป็นที่นิยมทั่วไปแก่คนที่พบเห็น ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีในการผลิต และรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีสีสันสดขึ้น แต่มีการทำเครื่องปั้นดินเผาในบางครัวเรือนเท่านั้น การเดินทาง บ้านเหมืองกุงอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่-หางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากถนนสายวงแหวน (ทางหลวงหมายเลข 11 สนามบิน) ประมาณ 6 กิโลเมตร โดยอยู่ก่อนถึงทางแยกตัดใหม่สายหางดง-สะเมิงเพียงเล็กน้อย
บ้านถวาย
อยู่ ถัดจากเหมืองกุงไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 15 ถึงห้องสมุดประชาชนอำเภอหางดง จึงแยกซ้ายเข้าหมู่บ้าน มีโรงงานผลิตไม้แกะสลักเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง มีชื่อเสียงในการทำผลิตภัณฑ์เลียนแบบของเก่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมการผลิตและซื้อเป็นสินค้าที่ระลึกได้
เวียงท่ากาน
เป็น เมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งในสมัยหริภุญชัย เชื่อว่าเมืองนี้คงจะเริ่มสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 สมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองแคว้นหริภุญชัย สืบต่อมาจนถึงสมัยพญามังรายช่วงก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานที่สำคัญอยู่บริเวณกลางเมืองในเขตโรงเรียน วัดท่ากาน และวัดต้นกอก โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปดินเผา พระพิมพ์จำนวนมาก ไหเคลือบสีน้ำตาลบรรจุกระดูก และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1823-1911) ปัจจุบัน เวียงท่ากานอยู่ในเขตท้องที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 ประมาณ 34 กิโลเมตร ผ่านอำเภอสันป่าตอง แล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านทุ่งเสี้ยว เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
จาก ตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 58 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญคู่เมืองจอมทอง และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วไป ประะเพณีเด่นของวัดคือ “การแห่ไม้ค้ำโพธิ์” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวลานนาที่ถือว่าการเอาไม้มาค้ำโพธิ์เป็นการสืบทอดพระ พุทธศาสนา
วัดพระธาตุดอยน้อย
ตั้ง อยู่ที่ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง ตามทางหลวงหมายเลข 108 ระหว่างกิโลเมตรที่ 43-44 หากมาจากเชียงใหม่จะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ตามประวัติว่าสร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อปี พ.ศ. 1201 มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระบรมธาตุ โข่งพระ (กรุพระ) โบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลัก ทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่มากมาย บริเวณวัดตั้งอยู่บนภูเขาติดลำน้ำปิง มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศ มีบันไดนาคขึ้นไป 241 ขั้น
วัดพุทธเอิ้น
ตั้ง อยู่ที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ตามประวัติกล่าวว่า วัดพุทธเอิ้นก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว มีโบราณสถานซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วคือ “โบสถ์น้ำ” คือมีน้ำล้อมรอบเป็น “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบกบริเวณด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่ ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่เลือนลางไปมากแล้ว
บ้านไร่ไผ่งาม
เป็น หมู่บ้านผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของจังหวัด เชียงใหม่ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 69-70 ตามเส้นทางเชียงใหม่-ฮอด และเลี้ยวซ้ายเข้าไปหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กม. ทางเข้าหมู่บ้านร่มรื่นด้วยเงาไม้ไผ่สองข้างทาง ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จากคุณป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ รวมกลุ่มกันผลิตที่บ้านป้าแสงดา ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำปิง ปัจจุบันได้จัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา” เพื่อรำลึกถึงผลงานของท่าน และยังแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านในสมัยก่อนด้วย ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (053) 361231 โทรสาร (053) 361230 สถานที่ติดต่อในเมืองเชียงใหม่ โทร. (053) 273625
สถานีทดลองปลูกพรรณไม้บ่อแก้ว (สวนสนบ่อแก้ว)
ตาม เส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง กิโลเมตรที่ 36 สถานีฯเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษ เป็นแปลงทดลองปลูกพืชจำพวกสน และยูคาลิบตัส ในเนื้อที่ทั้งหมด 2,072 ไร่ อากาศของที่นี่ชื้นและเย็นตลอดปี งามด้วยทิวสนที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบงามตา จึงทำให้บริเวณสถานีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง
ทะเลสาบดอยเต่า
อยู่ ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเชียงใหม่-ฮอด-ดอยเต่า ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ที่ดอยเต่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล เคยใช้ในการเกษตรกรรมการประมงในบริเวณอ่างเก็บน้ำ หากมีน้ำมากพอ (โดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน) จะมีบริการแพพัก ราคา 1,000-1,500 บาท และเรือนำเที่ยวไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ค่าเช่าเหมาเรือประมาณ 3,000-4,000 บาท รายละเอียดติดต่อ บริษัท เพชรสุวรรณ โทร. 469069 หรือ บริษัท ท่องนที จำกัด โทร. (02) 457-6873-4, 457-3428 นำเที่ยวจากเขื่อนภูมิพล มายังอ่างเก็บน้ำดอยเต่า
สันกำแพง
สัน กำแพงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก 13 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนเชียงใหม่ มักจะไปเที่ยวที่อำเภอสันกำแพง เพราะผ้าไหมและผ้าฝ้ายซึ่งทอมาจากอำเภอนี้ มีคุณภาพดี ราคาถูก เหมาะสำหรับเป็นของที่ระลึกแก่ญาติสนิทมิตรสหาย นอกจากนั้นยังมีโรงงานทอผ้าให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิธีการทอ รวมทั้งการเลี้ยงตัวไหมให้ชมด้วย และระหว่างเส้นทางจากอำเภอเมืองถึงอำเภอสันกำแพง (ระยะทาง 13 ก.ม.) ยังมีโรงงานและร้านค้าของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เครื่องเขิน เครื่องหนัง เครื่องปั้นดินเผา และผ้าฝ้าย ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและเลือกซื้ออีกด้วย
วัดป่าตึง
ตั้ง อยู่ในเขตตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง เดิมเป็นวัดร้าง คู่กับวัดเชียงแสน ก่อนที่จะสร้างวัดนี้ขึ้นมา ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่ามากมายหลายอย่าง อาทิ วัตถุโบราณ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยชามสังคโลก ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ใน พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยชาม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด ในศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งศพของเกจิอาจารย์ชื่อดัง คือหลวงปู่หล้าซึ่งไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้ที่มีศรัทธาได้บูชา
บ่อน้ำพุร้อน
ตาม เส้นทางนี้มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่สองแห่งตกแต่งสถานที่ด้วยสวนดอกไม้สวยงาม มีห้องอาบน้ำแร่ ที่พัก สถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร ได้แก่ น้ำพุร้อนสันกำแพง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 34 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 ทางด้วยกัน คือ เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-สถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้สัก-น้ำพุร้อน (เส้นทางนี้จะผ่านถ้ำเมืองคอน ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำพุร้อน 4 กิโลเมตร) หรือเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-หมู่บ้านออนหลวย-น้ำพุร้อน หากเดินทางโดยรถประจำทางขึ้นรถจากสถานีขนส่งช้างเผือกไปยังสันกำแพง และเช่าเหมารถสองแถว จากสันกำแพงไปน้ำพุร้อนในราคาประมาณ 200 บาทต่อคัน สำรองที่พักล่วงหน้าที่ ธุรกิจน้ำพุร้อนสันกำแพงหมู่บ้านสหกรณ์ โทร. (053) 929077 และรุ่งอรุณน้ำพุร้อน รายละเอียดติดต่อ โทร. (053) 248475
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เพื่อศึกษาด้านการพัฒนาป่าไม้และด้านการเกษตรที่เหมาะกับบริเวณต้นน้ำลำธาร ของภาคเหนือ ในศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย งานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ ปศุสัตว์และโคนม การประมง งานปลูกหญ้าแฝก และการดำเนินงานหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ โดยจัดเป็นเขตต่างๆ นับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเกี่ยวกับนิเวศน์วิทยาได้เป็นอย่างดี ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. หากต้องการวิทยากรนำชมติดต่อล่วงหน้าที่ โทร. (053) 248004, 248483 และที่นี่มีบ้านพักรับรอง หรือกางเต็นท์พักแรมได้แต่ต้องนำอุปกรณ์มาเองโดยติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า

5 ความคิดเห็น:

  1. น่าเที๋ยวดี อยากไปอ่ะ พนไกลดีมันไกลเกิ้นนนนน

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16 สิงหาคม 2554 เวลา 04:17

    สวยๆๆ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ16 สิงหาคม 2554 เวลา 04:19

    ประวัติศาสตร์ เก่า เเก่ อยากไปจัง

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ16 สิงหาคม 2554 เวลา 04:21

    ประวัติศาสตร์อันยาวนาน

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ16 สิงหาคม 2554 เวลา 04:22

    อยากไปเที่ยว

    ตอบลบ